Tuesday, September 17, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

ทำอย่างไร เมื่อไทยกลายเป็น สังคมคนโสด

ขอเสนอแนวทางในการแก้ไขผลกระทบจาก สังคมคนโสด ที่ส่งผลถึงอัตราการเกิดที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบครอบครัว ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และความท้าทายในระบบสวัสดิการสังคม พร้อมทั้งเสนอวิธีการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ

นช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างประชากร คือการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของ คนโสด ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก 

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ในปี 2023 มีคนโสดทั่วโลก 2.12 พันล้านคน หรือร้อยละ 26.5 ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 ภายในปี 2030 

สำหรับประเทศไทยนั้น สภาพัฒน์ฯ รายงานเมื่อพฤษภาคม 2567 อ้างอิงจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2566 พบว่า 1 ใน 5 ของคนไทย เป็นคนโสด (ผู้ที่ยังไม่เคยสมรส) โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 23.9 ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเดนมาร์กที่มีสัดส่วนร้อยละ 24.1 สูงที่สุดในโลก รองลงมาเป็นฝรั่งเศสร้อยละ 22.8 และฟินแลนด์ร้อยละ 19.6 เป็นต้น 

และหากพิจารณาเฉพาะช่วงวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15 – 49 ปี) พบว่า มีคนโสดร้อยละ 40.5 สูงกว่าภาพรวมประเทศเกือบเท่าตัว และเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 35.7

เนื่องจากลักษณะของคนโสดในสังคมไทย การกระจายตัวตามพื้นที่ คนโสดส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่มีสัดส่วนคนโสดสูงถึงร้อยละ 50.4 ของประชากรในพื้นที่

และระดับการศึกษาของคนโสดประมาณหนึ่งในสามจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการศึกษาและการตัดสินใจครองโสดมีความสัมพันธ์กัน 

อีกทั้งด้านความแตกต่างทางเพศ ส่วนมากผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโสดมากกว่าผู้ชาย โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับผู้ชายมีเพียงร้อยละ 25.7 โดยช่วงอายุของคนโสดอยู่ในวัยเจริญพันธุ์มีอายุระหว่าง 15-49 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการสร้างครอบครัวในอนาคต

ผมวิเคราะห์ว่า สาเหตุของการเพิ่มขึ้นของคนโสดมีหลายปัจจัยที่เชื่อมโยงกัน โดยเริ่มจาก การเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน ซึ่งสอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ที่เน้นการทำงานและแข่งขันสูง ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ต้องทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานมากกว่าการสร้างความสัมพันธ์ 

นอกจากนี้ ค่านิยมในสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันผู้คนมักให้คุณค่ากับความสำเร็จในหน้าที่การงานและความมั่งคั่งทางการเงินมากกว่าการมีครอบครัว ซึ่งเป็นแนวคิดที่แตกต่างจากอดีตอย่างชัดเจน

ในขณะเดียวกัน การพัฒนาทางเทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญ เนื่องจากทำให้คนสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้มีทางเลือกในการสร้างความสัมพันธ์ที่หลากหลายขึ้นด้วย อีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามคือ ความเท่าเทียมทางเพศที่เพิ่มขึ้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาและหน้าที่การงานมากขึ้น ส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายทางเศรษฐกิจเหมือนในอดีต และค่าครองชีพที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้คนรุ่นใหม่ลังเลที่จะสร้างครอบครัว

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่าการเพิ่มขึ้นของคนโสดส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งอัตราการเกิดที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบครอบครัว ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และความท้าทายในระบบสวัสดิการสังคม 

เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ ผมจึงนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งเสนอวิธีการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ ดังนี้

1. การสร้างชุมชนร่วมอุดมการณ์

การสร้างชุมชนที่มีคนที่มีอุดมการณ์และเป้าหมายชีวิตคล้ายคลึงกันจะช่วยเพิ่มโอกาสในการพบคู่ที่เหมาะสม ช่วยดึงดูดคนที่มีคุณภาพ เมื่อคนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีค่านิยมและความสนใจร่วมกัน

โอกาสที่จะเกิดความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนก็มีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ชุมชนสถาบันการสร้างชาติ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนให้มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม และสร้างเครือข่ายของคนที่มีแนวคิดเดียวกัน 

2. สนับสนุนเครื่องมือการ matching คนโสด

ภาครัฐควรร่วมมือกับผู้พัฒนาแพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้คนโสดเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันหาคู่มากมาย เช่น Tinder, Badoo, Bumble โดย Tinder ครองตลาดด้วยผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก 

การพัฒนาแอปฯ ให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย เช่น แคมเปญ LOVE destiNATION: Eat Play Love ที่ให้เหล่าคนโสดมาใช้งานแอปพลิเคชันตรงลานเทพเจ้าตีมูรติ โดยคนส่วนมากเชื่อว่าพระตีมูรติสามารถขอพรเรื่องความรัก ซึ่งเป็นการผสมผสานความเชื่อท้องถิ่นกับเทคโนโลยี อาจช่วยลดสังคมคนโสดได้

3. การเตรียมความพร้อมก่อนมีครอบครัว

การจัดหลักสูตรหรือโปรแกรมที่ช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกคู่ครองและการเป็นพ่อแม่ที่ดี ผมเคยเสนอแนวคิดเรื่อง “โรงเรียนพ่อแม่” มาราว 30 กว่าปีต่อมาเรียกชื่อใหม่ว่า “สถาบันศาสตร์การเป็นพ่อแม่” ให้เป็นสถาบันต้นแบบของการสร้างพ่อแม่ที่พึงประสงค์ 

โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกคู่สำหรับคนโสดที่ยังไม่ได้แต่งงานจนถึงการมีครอบครัวและการเลี้ยงดูลูก เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่พ่อแม่และผู้ปกครองเพื่อสามารถเลี้ยงดูบุตรหลานให้เป็นคนคุณภาพมากที่สุด สถาบันศาสตร์การเป็นพ่อแม่ดังกล่าวนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการที่ว่า “สร้างศักยภาพพ่อแม่เพื่อสร้างศักยภาพลูก” 

โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมและสกัดวิทยาการองค์ความรู้ที่ดีที่สุดให้แก่พ่อแม่ เพื่อช่วยพ่อแม่มิต้องลองผิดลองถูกในการเลี้ยงดูลูก เป็นการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ และส่งเสริมการเรียนรู้เหล่านี้ควรเริ่มตั้งแต่ก่อนการมีคู่ครอง

4. สร้างบริบทเอื้อให้คนอยากมีคู่

หากสภาพแวดล้อมเอื้อ คนจะอยากมีคู่ แต่หากสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ สังคมไม่น่าอยู่ มีอาชญากรรม เศรษฐกิจไม่ดี เครียดกับงาน รายได้ไม่พอ คนไม่อยากมีคู่ ดังนั้นรัฐบาลต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมขึ้นมา เช่น มีโครงการสตาร์ทอัพ สำหรับเด็กจบใหม่เริ่มต้นประกอบธุรกิจ 

เป็นกองทุนให้กู้ยืมที่ให้ระยะเวลาผ่อนนานและดอกเบี้ยน้อย เพื่อให้คนตั้งตัวได้ ทำให้ดำรงครอบครัวและชีวิตคู่อย่างเป็นสุข และปรับแก้กฎหมายเพื่อลดค่าใช้จ่าย เอื้อต่อการจดทะเบียนก่อตั้งธุรกิจขนาดเล็ก พัฒนาสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจให้เอื้อต่อการมีคู่ เป็นต้น

5. ขับเคลื่อนและให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจคนโสด (Solo Economy) มากขึ้น

เริ่มจากการเสริมสร้างทักษะทางการเงินตั้งแต่วัยทำงานจนถึงเกษียณ เพื่อสร้างวินัยและความมั่นคงทางการเงินแก่ครัวเรือนคนเดียว ในขณะเดียวกันภาครัฐควรร่วมมือกับวิสาหกิจเพื่อสังคมในการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง และยกระดับด้านความปลอดภัยทางสังคมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตคนเดียว 

พร้อมทั้งส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ทางสังคม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ภาคเอกชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับครัวเรือนคนเดียว ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

6. การสนับสนุนนโยบายระดับประเทศ

รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสังคมคนโสดและการส่งเสริมการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ โดยอาจพิจารณานโยบายต่างๆ เช่น การสนับสนุนด้านการเงินสำหรับคู่สมรสใหม่ การจัดสวัสดิการสำหรับครอบครัว รัฐบาลสนับสนุนการฝากไข่สำหรับผู้หญิงที่ยังโสดลดค่าใช้จ่ายในการฝากไข่ซึ่งปัจจุบันมีราคาสูง พร้อมกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการวางแผนครอบครัวในอนาคต 

ผมมองว่าการเพิ่มขึ้นของ “สังคมคนโสด” ในประเทศไทยเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ทั้งในระดับนโยบายสาธารณะ เศรษฐกิจ และโครงสร้างทางสังคม 

การดำเนินการในหลายมิติ ทั้งการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง การพัฒนาทักษะของประชาชน และการสนับสนุนจากภาครัฐ จะช่วยสร้างสังคมที่เอื้อต่อการมีครอบครัวที่มีความสุขและมั่นคง อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว

อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์_เจริญวงศ์ศักดิ์

Featued Image: Image by freepik