“depa–YARA ลงนาม MOU ยกระดับเกษตรกรรมไทย พัฒนากิจกรรมและแนวทางการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรไทยด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านดิจิทัล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จับมือ บริษัท ยารา (ประเทศไทย) จำกัด (YARA) ลงนาม MOU บูรณาการความร่วมมือบันทึกความเข้าใจ เดินหน้าส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตรของไทย เพื่อช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต ส ร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
พรรณธนู วรรณกางซ้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ระหว่างYARA สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดย ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ depa และบริษัท ยารา (ประเทศไทย) จำกัด (YARA) โดย นันทิยา พิทักษ์วงษ์ดีงาม กรรมการผู้จัดการ YARA พร้อมด้วย เบด้า แมร์เคลบัค รองประธานอาวุโส ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ร่วมในพิธี
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างdepa กับ YARA มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานของทั้งสองฝ่าย ในการพัฒนากิจกรรมและแนวทางการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรไทยด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านดิจิทัล การส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับภาคเกษตรไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรรมร่วมกับเครือข่าย ผ่านการดำเนินงานต่าง ๆ ร่วมกัน
เช่น การจัดกิจกรรม การร่วมทุน การมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาระบบนิเวศส่งเสริมการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล การดำเนินการนำร่อง การขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสํารวจโอกาสทางธุรกิจ มาตรการจูงใจ แซนด์บ็อกซ์และพื้นที่ทดสอบ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสู่มาตรฐานสากลต่อไป
“ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเป็นอีกก้าวสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ที่มุ่งเน้นส่งเสริมกลไกการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ยกระดับเกษตรกรและกลุ่มชุมชนทั่วประเทศ ด้วยเทคโนโลยีโดรน พร้อมจัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะการบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร ศูนย์ซ่อมโดรน
รวมถึงการพัฒนาทักษะเกษตรกรและชุมชนทั่วประเทศให้สามารถเป็นผู้ให้บริการบินโดรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การขับเคลื่อนชุมชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้กระจายตัวและทั่วถึงในวงกว้าง เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจและเพิ่มผลผลิต พัฒนาสู่การแข่งขันรูปแบบใหม่ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ด้าน นันทิยา กล่าวว่า “แอปพลิเคชันฟาร์มแคร์เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องมือการเกษตรได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การวัดพื้นที่ คำนวณการใช้ปุ๋ย เช็คพยากรณ์อากาศ รวมถึง การจองนักบินโดรนสำหรับฉีดพ่นปุ๋ยและผลิตภัณฑ์เกษตรอื่น ๆ
ซึ่งเป็นฟีเจอร์ล่าสุดในแอปฯ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยจับคู่ระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการโดรนเพื่อการเกษตร บริษัทยาราเล็งเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาคการเกษตร และเข้าใจดีว่าการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือ
จากหลายฝ่าย ซึ่งบริษัทยารายินดีที่จะร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ ในการสนับสนุนภาคการเกษตรไทย ด้วยเครื่องมือและองค์ความรู้ที่เรามี”
ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและข้อมูลข่าวสารโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ได้ที่ Page: depa Thailand