Friday, November 15, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak ChareonwongsakManagement

แชร์ไอเดีย นโยบายการจัดการยาบ้าออกจากสังคมไทย

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาผู้เขียนเห็นว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วและต้องอาศัยการร่วมมือกันอย่างจริงจัง บทความนี้ขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา สู่เป้าหมายสูงสุดคือ การทำให้จำนวนผู้เสพยาบ้าลดลงเป็นศูนย์ และการขจัดยาบ้าออกไปจากสังคมไทย

ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศต่างๆ ในโลก รวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะยาบ้าที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ยาบ้าก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างมาก ทำลายสุขภาพของผู้เสพ เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง การแตกแยกของครอบครัว การกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และการลดทอนศักยภาพในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน

การกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของยาบ้าจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายการลดจำนวนการถือครองยาบ้าจาก 5 เม็ดเหลือ 1 เม็ด

รัฐบาลทุกรัฐบาลพยายามที่จัดการกับปัญหาดังกล่าวและเมื่อไม่นานมานี้มีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายให้การครอบครองยาบ้าไม่เกิน 1 เม็ด หรือไม่เกิน 100 มิลลิกรัม ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ให้นำตัวไปบำบัดรักษา หากเกินกว่านี้ ถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย จะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎกระทรวงเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ด

ข้อเสนอดังกล่าวทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของยาบ้าได้หรือไม่? มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้ 

ฝ่ายที่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า การกำหนดปริมาณนี้จะช่วยแยกแยะระหว่างผู้เสพและผู้ค้าอย่างชัดเจน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ผู้เสพได้รับการบำบัดรักษาแทนการถูกลงโทษ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้เสพที่ติดอยู่ในวงจรของยาเสพติดและลดจำนวนผู้ต้องขังในคดียาเสพติด 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางการแพทย์รองรับว่า การเสพยาบ้าเกิน 5 เม็ดเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิต การกำหนดปริมาณนี้จึงช่วยประเมินและลดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ 

นโยบายนี้ยังเป็นการตอบสนองต่อปัญหาสังคม โดยช่วยควบคุมปัญหายาเสพติดที่กระทบต่อสุขภาพ อาชญากรรม และความมั่นคง และช่วยให้การทำงานของเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงลดภาระของเรือนจำโดยเน้นการส่งผู้เสพเข้าสู่การบำบัดรักษาแทนการคุมขัง

ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มีข้อกังวลว่า การอนุญาตให้ครอบครองยาบ้าอาจเปิดช่องให้ผู้เสพใช้ยาเกินกำหนด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ จิตใจ และสังคมโดยรวม อีกทั้งยังมองว่าระบบบำบัดผู้ติดยาเสพติดของรัฐยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากมีผู้รับการบำบัดจำนวนมากที่ไม่สามารถเลิกเสพยาได้จริง 

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ฝ่ายคัดค้านยังเสนอให้จัดตั้งคลินิกบำบัดเพื่อให้การรักษาอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดแทนการกำหนดปริมาณการครอบครอง นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่ามาตรการนี้อาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริตในหมู่เจ้าหน้าที่ และอาจไม่สอดคล้องกับหลักวิชาการ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้เสพก่อเหตุอาชญากรรม

ข้อเสนอในการจัดการปัญหายาบ้า

แม้ในสังคมจะมีความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่ายในมาตรการดังกล่าว แต่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ควรมีนโยบายที่ช่วยให้ผู้เสพเลิกเสพยาเสพติดได้อย่างถาวร เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยและมั่นคงในระยะยาว

ซึ่งตลอด 40 ปีที่ผ่านมาผมเห็นว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วและต้องอาศัยการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ผมจึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้ 

1) ไม่อนุญาตให้ครอบครองยาบ้าโดยเด็ดขาด การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น หน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกมิติแม้จำนวนเพียงเล็กน้อยแต่การครอบครองยาเสพติดทุกประเภทก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน

ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาดโดยไม่มีข้อยกเว้น เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิด และทางการจะมีการลงโทษอย่างเด็ดขาดโดยแยกการลงโทษระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้เสพออกให้ได้สัดส่วนแห่งโทษ เพื่อให้สอดคล้องกับความรุนแรงของการกระทำผิด  

2) รัฐเข้ามาผลิต จำหน่ายผู้เสพในราคาถูก เพื่อทำลายตลาดยาบ้า และ จัดตั้งสถานที่เฉพาะสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด รัฐบาลควรเข้ามาเป็นผู้ผลิตยาเสพติดชั่วคราวในราคาต้นทุนเพื่อช่วยทำลายตลาดยาเสพติดผิดกฎหมายและลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดที่ไม่ได้มาตรฐาน 

นอกจากนี้ยังควรสนับสนุนและส่งเสริมการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เพื่อให้พวกเขากลับมามีชีวิตที่ปกติสุขและกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ โดยมีการจัดตั้งสถานที่เฉพาะสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ติดยาเสพติดสามารถเข้ารับการบำบัดอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยผู้ติดยา เสพติดจะต้องขึ้นทะเบียนเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษา

3) เสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ครอบครัวเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนกลายเป็นผู้เสพยา ดังนั้นภาครัฐจึงควรให้ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพื่อให้เกิดความตระหนักและมีภูมิคุ้มกันต่อการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

และต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว โดยการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน และสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มเยาวชนผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การศึกษาดูงาน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหายาเสพติดในกลุ่มเยาวชน

4) จัดทำแผนที่พื้นที่แพร่ระบาดของยาเสพติด การระดมสรรพกำลังเข้าปราบปรามแหล่งผลิตยาเสพติดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อตัดวงจรการผลิตและจัดหายาเสพติดที่ต้นทาง ดำเนินการจัดทำแผนที่แสดงพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมชายแดน และตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ

5) จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังภาคประชาชน ทางการจะจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังภาคประชาชนขึ้น เพื่อสร้างระบบคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และประสานความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและผู้ปกครอง เพื่อเพิ่มมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียน

การแก้ไขปัญหายาเสพติดจำเป็นต้องดำเนินการทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมุ่งเน้นทั้งการป้องกันและการแก้ไข เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็งและปลอดภัยสำหรับเยาวชนในอนาคต เป้าหมายสูงสุดคือการทำให้จำนวนผู้เสพยาบ้าลดลงเป็นศูนย์ และการขจัดยาบ้าออกไปจากสังคมไทยให้สิ้นซากภายในระยะเวลาอันใกล้

การเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองนั้น มิใช่เพียงการแสวงหาอำนาจหรือเกียรติยศ แต่เป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกหมู่เหล่า หากรัฐบาลทุกระดับมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง และประชาชนทุกคนร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ เราจะสามารถสร้างสังคมที่ปลอดภัยและปราศจากยาเสพติดได้ในที่สุด

อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์_เจริญวงศ์ศักดิ์

Featured Image: freepik