Sunday, December 22, 2024
ColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

ถอดรหัสเมืองพึ่งพาตนเอง (ตอนที่ 2)

จากบทความ ถอดรหัส เมืองพึ่งพาตนเอง ตอนที่ 1 ผู้เขียนขออธิบายเพิ่ม 2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การทำให้ชุมชนภายใต้ความเป็นเมืองสามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถช่วยให้คนในชุมชน เมือง หรือประเทศมีชีวิตรอดได้ยามวิกฤต

ากบทความ ถอดรหัสเมืองพึ่งพาตนเอง ตอนที่ 1 ผมได้อธิบายถึงประเด็นคำถามสำคัญ ที่ควรได้รับการพิจารณาเกี่ยวกับการเป็นเมืองพึ่งพาตนเองได้ไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก เมืองควรพึ่งพาตนเองหรือไม่? ซึ่งคำตอบคือ เมืองควรพึ่งพาตนเองได้

ประเด็นที่สอง เมืองควรพึ่งพาตนเองเมื่อใด? ซึ่งคำตอบคือ เมืองควรพึ่งพาตนเองเฉพาะในยามวิกฤต และประเด็นที่สาม เมืองควรพึ่งพาตนเองในเรื่องอะไร? ซึ่งคำตอบคือ เมืองควรพึ่งพาตนเองเฉพาะในปัจจัยอยู่รอด คือ อาหาร น้ำ และพลังงาน

ในบทความนี้ ผมขออธิบายเพิ่มเติมอีก 2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การทำให้ชุมชนภายใต้ความเป็นเมืองนั้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ ดังต่อไปนี้

เมืองควรพึ่งพาตนเองในช่วงภาวะปกติหรือไม่?

โดยหลักการแล้ว ชุมชนหรือเมืองควรพึ่งพาตนเองให้ได้ในปัจจัยอยู่รอดในยามวิกฤตเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนในเมืองมีชีวิตรอดได้ในภาวะไม่ปกติ ขณะที่การพิจารณาเพื่อจัดระบบชุมชนหรือเมืองให้สามารถพึ่งตนเองได้แม้ในยามปกติด้วยนั้น เป็นระบบที่มีต้นทุนสูง และเป็นการใช้ทรัพยากรโดยขาดประสิทธิสภาพสูงสุด เพราะในยามปกติ ชุมชนหรือเมืองไม่ควรผลิตสินค้าและบริการที่สามารถซื้อจากภายนอกได้ในราคาถูกกว่าการผลิตด้วยตนเอง

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

อย่างไรก็ดี การผลิตปัจจัยอยู่รอดบางชนิด ไม่สามารถผลิตได้ทันทีเมื่อเกิดวิกฤต แต่จำเป็นต้องเตรียมการล่วงหน้า และพึ่งพาตนเองบางระดับในภาวะปกติด้วย เช่น การที่ชุมชนหรือเมืองจะมีน้ำเพียงพอในยามวิกฤต ต้องมีการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำล่วงหน้า

หรือในกรณีพลังงาน ชุมชนหรือเมืองต้องลงทุนผลิตพลังงานทดแทนล่วงหน้า เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอในยามที่เกิดวิกฤตพลังงาน เช่นเดียวกับอาหาร ชุมชนหรือเมืองต้องมีการวางแผนล่วงหน้าในการสำรองอาหารและการผลิตอาหารทดแทนในยามที่เกิดวิกฤตอาหาร เพราะการผลิตอาหารต้องใช้เวลา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเตรียมการเพื่อผลิตและสำรองปัจจัยอยู่รอดในยามปกตินั้น ไม่จำเป็นต้องผลิตและสำรองเพื่อตอบสนองความต้องการเท่ากับระดับความต้องการในยามปกติ แต่ออกแบบการผลิตและสำรองให้เพียงพอกับความจำเป็นสำหรับการอยู่รอดในยามวิกฤตเท่านั้น

ซึ่งอาจเป็นระดับความเป็นอยู่แบบสมถะเป็นอย่างน้อย และสำรองหรือผลิตให้เพียงพออย่างน้อย 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ผมประมาณการจากวิกฤตในอดีต ซึ่งภาวะตื่นตระหนกมักจะจบลงภายใน 6 เดือน

นอกจากนี้ การเลือกชนิดของปัจจัยอยู่รอดที่จะผลิตในภาวะปกติ ควรเลือกชนิดหรือประเภทที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบหรือแข่งขันได้ด้วย เช่น การผลิตอาหารชนิดที่เป็นที่ต้องการของตลาดและมีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้ การเลือกแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้ เป็นต้น

หน่วย (Unit) ของการพึ่งพาตนเองควรเป็นระดับใด?

การตอบคำถามว่า การพึ่งพาตนเองควรเป็นระดับบุคคล ระดับครอบครัว ระดับกลุ่มครอบครัว ระดับชุมชน ระดับประเทศ หรือระดับโลก ผมเห็นว่าทุกระดับควรพยายามพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุดในยามวิกฤต แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกระดับที่สามารถพึ่งพาตนเองได้

เช่น ระดับบุคคล ครอบครัว หรือกลุ่มครอบครัว พึ่งพาตนเองได้บางระดับ แต่อาจเล็กเกินไปที่จะพึ่งพาตัวเองได้อย่างยาวนานเพียงพอ เพราะจำนวนคน ทรัพยากรไม่มากพอ และความเชี่ยวชาญไม่หลากหลายพอ

ขณะที่หน่วยที่มีขนาดใหญ่จะบริหารจัดการได้ยาก เช่น อำเภอ จังหวัด ประเทศ แม้มีทรัพยากรมาก มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย แต่ขนาดที่ใหญ่เกินไป ทำให้บริหารจัดการได้ยาก เมื่อเกิดวิกฤต ความช่วยเหลืออาจไปไม่ทั่วถึง เพราะมีข้อมูลไม่ครบถ้วนว่าใครบ้างที่ตกทุกข์ได้ยาก คนที่อยู่ต่างชุมชนไม่รู้จักกัน อาจสร้างความร่วมมือกันได้ยากและอาจไม่ยินดีช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ส่วนการสร้างความร่วมมือในระดับโลกในยามวิกฤตเป็นไปได้ยาก เพราะอำนาจอยู่ที่รัฐบาลของแต่ละประเทศ และแต่ละประเทศย่อมเห็นแก่ประโยชน์ของคนในชาติก่อน ดังตัวอย่างของวิกฤต COVID-19 ที่แทบไม่มีความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาเลย

หน่วยที่เหมาะสมสำหรับ เมืองพึ่งพาตนเอง คือ ระดับชุมชนที่มีขนาดไม่เล็ก และไม่ใหญ่เกินไป เพราะเล็กพอที่คนจะรู้จักกันและมีความสัมพันธ์กัน ทำให้ประสานความร่วมมือกันได้ง่าย บริหารจัดการได้ง่ายและปรับตัวได้เร็ว มีผู้นำโดยธรรมชาติที่สามารถนำคนในชุมชนได้

สมาชิกชุมชนรู้จักและมีความสัมพันธ์กันจึงมีโอกาสที่จะช่วยเหลือกัน และใหญ่พอที่จะพึ่งพาตนเองได้ มีพื้นที่ มีทรัพยากร มีความเชี่ยวชาญหลากหลายเพียงพอสำหรับการพึ่งพาตนเองในปัจจัยอยู่รอด สามารถกระจายความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่งเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชุมชนมีความหลากหลายบางระดับ

หน่วยระดับชุมชนยังทำให้เกิดประสิทธิสภาพ 5 ด้าน หรือ Efficacy of S Community ตามโมเดล 5 ทหารเสือแห่ง S (5 Musketeers of S Model) ประกอบด้วย 1) ประสิทธิสภาพต่อขนาด (Efficacy of Scale) เพราะชุมชนใหญ่พอที่จะลงทุนร่วมกัน เช่น เครื่องจักรกลการเกษตร การผลิตพลังงานทดแทน เป็นต้น 2) ประสิทธิสภาพต่อขอบเขต (Efficacy of Scope) เพราะมีกิจกรรมที่หลากหลายในระดับหนึ่ง

3) ประสิทธิสภาพต่อความเร็ว (Efficacy of Speed) เพราะมีขนาดเล็กและมีเอกภาพมากพอที่จะปรับตัวได้เร็ว 4) ประสิทธิสภาพต่อเทศะ (Efficacy of Sphere) เพราะมีพื้นที่เฉพาะเจาะจง ที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการผลิตสินค้าและบริการบางชนิด และ 5) ประสิทธิสภาพต่อความแกร่ง (Efficacy of Strength) เพราะคนในพื้นที่เดียวกันมักมีจุดแกร่งร่วมกัน มีรากวัฒนธรรมคล้ายกัน และสามารถค้นหาฉลักษณ์ชุมชนร่วมกันได้ง่าย

การสร้างเมืองที่พึ่งพาตนเองได้ จึงจำเป็นต้องสร้างทุกชุมชนในเมืองให้เป็นชุมชนยั่งยืนด้วยตัวเอง และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างทุกชุมชนในเมือง หรือที่ผมเรียกว่า Linked Self-Sustained Communities เพื่อเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยน พึ่งพา และช่วยเหลือกันและกันของชุมชนต่างๆ ในเมือง

ซึ่งจะทำให้ทุกชุมชนมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นในยามวิกฤต และทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจระหว่างชุมชนที่อยู่ภายในเมืองมากขึ้นด้วยแนวคิด ชุมชนที่ยั่งยืนด้วยตัวเอง ยังเป็นโมเดลระดับจุลภาคของแนวคิด เศรษฐกิจกระแสกลาง (Mid-Stream Economy) ที่ผมได้นำเสนอมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งเป็นแนวทางสร้างหลักประกันให้ประชาชนในระดับมหภาค โดยเศรษฐกิจกระแสกลางมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหลักประกันความอยู่รอดให้กับประชาชนทุกคน

เมื่อใดก็ตามที่ประเทศชาติประสบกับภาวะวิกฤตที่รุนแรง ประชาชนจะได้รับการประกันว่ายังคงมีปัจจัยอยู่รอดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็น อาหาร น้ำ และพลังงานที่เพียงพอตลอดช่วงเวลาวิกฤต เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนไทยจะไม่อดอยาก จะไม่หิวโหย จะไม่ต้องเสียชีวิตเพราะการกันดารอาหารเมื่อยามประเทศเผชิญวิกฤตการณ์

ชุมชนยั่งยืนด้วยตัวเองและเศรษฐกิจกระแสกลาง เป็นแนวคิดการจัดระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ที่ตั้งอยู่บนฐานของการพึ่งตนเองในปัจจัยอยู่รอด เพื่อเตรียมความพร้อมให้ชุมชน เมือง หรือประเทศสามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในยามปกติและยามวิกฤต โดยในยามปกติ ดำเนินนโยบายเปิดเสรีตามกระแสโลกบนฐานของภาคเศรษฐกิจที่เป็นจุดแข็งแกร่งของชุมชน

เมือง หรือประเทศ และสินค้าอื่นนอกเหนือปัจจัยอยู่รอดที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบให้เปิดเสรีอย่างเต็มที่ และในยามวิกฤต ก็พร้อมที่จะดำเนินนโยบายสับเปลี่ยน (Switching Policy) จากเศรษฐกิจเสรียามปกติเป็นพึ่งตนเองได้ทันที รวมทั้งมีความสามารถพึ่งตนเองในปัจจัยอยู่รอด สามารถช่วยให้คนในชุมชน เมือง หรือประเทศมีชีวิตรอดได้ยามวิกฤต ซึ่งไม่สามารถพึ่งพิงความช่วยเหลือจากภายนอกได้

เอกสารอ้างอิง

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2543). เศรษฐกิจกระแสกลาง: ทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต. กรุงเทพมหานคร : ซัคเซส มีเดีย.

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2564, 15 ก.ค.). แนวคิดการสร้างชุมชนยั่งยืนด้วยตัวเอง: แนวคิดที่เกี่ยวกับชุมชนยั่งยืนด้วยตัวเอง. การนำเสนอในหลักสูตร Youth-Leadership Empowerment Summer Programme (NBI YES 3) 2564, กรุงเทพมหานคร.

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2565, 6 ม.ค.). 5 ทหารเสือแห่ง S (5 Musketeers of S Model). เอกสารภายในของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา, กรุงเทพมหานคร.

อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

Featured Image: Image by Freepik