Monday, November 11, 2024
NEWS

สสว.เผยผลสำรวจ SME ไตรมาสแรก

สสว. เผยผลสำรวจ SME ไตรมาส 1/2566 พบผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสูงขึ้น ขณะที่สัดส่วนภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นแต่ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 วงเงินสินเชื่อส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 50,000-100,000 บาท และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ในขณะที่กลุ่ม Micro เสียดอกเบี้ยที่อัตราร้อยละ 9 ปัญหาหลักของ SME คืออัตราดอกเบี้ยสูง จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยลดภาระดอกเบี้ย

สว. เผยผลสำรวจ SME ไตรมาส 1/2566 พบผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสูงขึ้น ขณะที่สัดส่วนภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นแต่ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 วงเงินสินเชื่อส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 50,000-100,000 บาท และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ในขณะที่กลุ่ม Micro เสียดอกเบี้ยที่อัตราร้อยละ 9 ปัญหาหลักของ SME คืออัตราดอกเบี้ยสูง จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยลดภาระดอกเบี้ย

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านหนี้สินของผู้ประกอบการ SME ในช่วงไตรมาสที่ 1/2566 โดยสอบถามผู้ประกอบการ จำนวน 2,670 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 17-25 มีนาคม 2566 พบว่า ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 63.7 มีภาระหนี้สินในกิจการ

โดยร้อยละ 10.3 ชำระหนี้สินเสร็จสิ้นแล้วใน ไตรมาสที่ 1/2566 และอีกร้อยละ 53.4 ยังคงมีภาระหนี้สินอยู่ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาสที่ผ่านมา ที่ร้อยละ 44.7 โดยแหล่งกู้ยืมเงินของธุรกิจ SME ร้อยละ 86.1 มาจากสถาบันการเงิน ส่วนอีกร้อยละ 13.9 มาจากแหล่งเงินทุนนอกระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะจากเพื่อนหรือญาติพี่น้องมากที่สุด

ในส่วนที่มีการกู้ยืมนอกระบบสถาบันการเงิน พบว่า อยู่ในภาคธุรกิจการเกษตรและภาคการค้า มากที่สุด โดยเฉพาะร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) รองลงมา คือ การค้าส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค และบริการซ่อมบำรุง โดยวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน คือ นำมาหมุนเวียนในกิจการมากที่สุด รองลงมาคือ ลงทุนในกิจการและชำระหนี้เดิม ซึ่งต่างจากไตรมาสก่อนหน้า ที่การกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนในกิจการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะใช้ในการซ่อมแซมหรือตกแต่งสถานประกอบการ

สำหรับภาระหนี้สินทั้งหมดของธุรกิจ SME ส่วนใหญ่มีหนี้สินอยู่ในช่วง 50,000 บาท ถึง 100,000 บาท มากที่สุด มีระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 3 ปี และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า พบว่า ภาระหนี้สินทั้งหมดของธุรกิจรายย่อย (กลุ่ม Micro) มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าธุรกิจขนาดอื่น ๆ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ SME ส่วนใหญ่ได้รับอยู่ในช่วงร้อยละ 6-8 โดยธุรกิจรายย่อยได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ร้อยละ 9 ซึ่งสูงกว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า อยู่ที่ร้อยละ 7

ในปัจจุบันผู้ประกอบการ SME กำลังเผชิญกับปัญหาด้านการเงินและภาระหนี้สินจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นและสูงกว่าไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางจะได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจขนาดอื่น ๆ และพบว่า SME ร้อยละ 48.3 ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา แต่มีร้อยละ 51.7 ที่กำลังมีปัญหาการชำระหนี้ ทั้งจากการชำระผิดเงื่อนไขหรือจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา ซึ่งสัดส่วนที่ผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา SME มีการขอเข้ารับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน/แหล่งเงินทุน โดยร้อยละ 7.4 ขอปรับโครงสร้างหนี้เพื่อปรับรูปแบบการชำระหนี้

อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญมากที่สุดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังอยู่ในระดับสูง การขาดข้อมูลข่าวสารจากแหล่งเงินทุน และคุณสมบัติของธุรกิจไม่ผ่านตามเงื่อนไขของสถาบันการเงินจึงไม่สามารถกู้ยืมได้ และสิ่งที่ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุดด้านการเงินและภาระหนี้สิน คือ การลดอัตราดอกเบี้ย และการจัดให้มีสถาบันการเงินของภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือธุรกิจรายเล็กโดยเฉพาะ (เน้นที่ธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อยซึ่งต้องการเงื่อนไขการขอกู้ต่างจากคุณสมบัติที่ธนาคารทั่วไปกำหนดไว้) สำหรับการให้กู้ยืมเพื่อนำเงินไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ เป็นต้น