The Digital Futurist (ตอนที่ 584) Becoming a Successful Data-Driven Organization
“ในการแข่งขันทางธุรกิจ ทุกบริษัทจำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูล แต่ในการก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้นมีตัวแปรมากมาย ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี ยังมีวัฒนธรรมองค์กร ทัศนคติของคน และการสื่อสารที่เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุด บทความนี้คงเป็นจุดเริ่มต้นของหลายคนให้หันมาตั้งยุทธศาสตร์เรื่องนี้อย่างจริงจัง
การที่จะก้าวเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Organization) ที่ประสบความสำเร็จ Data Governance มีความสำคัญต่อองค์กรอย่างมาก ความหมายอย่างกระชับของ Data Governance คือ การดำเนินการ หรือ กิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้การจัดการข้อมูลง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น
องค์กรในปัจจุบันต่างเข้าใจถึงความสำคัญของข้อมูล ที่จะเข้ามาเสริมการกำหนดนโยบาย การดำเนินธุรกิจ ความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นส่วนจำเป็นของเทคโนโลยีสำคัญอย่าง machine learning และ predictive analytics ในสถานการณ์ปัจจุบันการนำข้อมูลมาเสริมประสิทธิภาพองค์กรเพื่อขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาเบื้องต้นดังนี้
BUSINESS-DRIVEN DATA CULTURE
วัฒนธรรมองค์กร เป็นสิ่งที่คนในองค์กรปฏิบัติเมื่อไม่มีใครมาจับตามองอยู่ วัฒนธรรมเป็นค่านิยมร่วมที่ขับเคลื่อนการทำงานของคนในองค์กร เมื่อเรากล่าวถึง data culture ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานและความเชื่อของคนในหน่วยงานถึงการใช้หรือไม่ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจในกระบวนการต่างๆ
เฉพาะข้อมูล (data) เพียงอย่างเดียวจะไม่มีความหมาย จำเป็นต้องพิจารณาว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรในภาพรวมอย่างไร มีส่วนเสริมให้องค์กรเดินทางสู่เป้าหมายและเสริมการทำงานได้อย่างไร สิ่งสำคัญคือแทนที่จะตัดสินใจการทำงานด้วยความรู้สึก จำเป็นต้องนำการวิเคราะห์ข้อมูลมาเป็นส่วนหนึ่ง ผนวกเข้าไปในกระบวนการทำงานจนกล่าวได้ว่าเป็น Business-driven data culture
AVOIDING COMMON PITFALLS
หลุมพรางสำคัญที่เกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนคือ การที่เข้าใจว่าข้อมูลเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายเทคโนโลยีเท่านั้นซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเท่าไรนัก จึงมีความจำเป็นที่ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับทุกคนในองค์กรว่า ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรที่ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ใช้หน้าที่ของฝ่ายเทคโนโลยีเท่านั้น
อย่างเช่นแทนที่จะมองว่า data analytics เป็นเพียงเครื่องมือช่วยทางเทคโนโลยีเท่านั้น กลับต้องมองว่า data analytics เป็นส่วนประกอบสำคัญหนึ่งของการดำเนินงานเพื่อเสริมประสิทธิภาพขององค์กร
อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่ควรพิจารณาอย่าง การบริหารจัดการข้อมูลที่มีลักษณะเป็น silo ทำเฉพาะภายในหน่วยงานย่อย ขาดการบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ตัวชี้วัดที่ไม่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ (Goal) ขององค์กร การมีสมมติฐานว่าทุกหน่วยงาน ทุกคนในองค์กร มีความรู้ความเข้าใจเรื่องข้อมูลเท่ากัน เป็นต้น
PLAIN LANGUAGE
ในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีศัพท์เทคนิคเฉพาะใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อต้องการจะสร้างความตระหนักรู้ทั้งภายในและภายนอกองค์กรจำเป็นต้องเปลี่ยนจาก language of pain ซึ่งปกติมักใช้ในสาขาสุขภาพ แต่ครั้งนี้ขอหยิบยืมมาปรับใช้ในบริบทที่หมายถึงการสื่อสารที่สร้างความสับสน ทำให้เกิดความไม่สบายเนื้อสบายตัวเมื่อฟังศัพท์เทคนิค (Jargon) ใหม่ๆ ในวงการดิจิทัล
ควรปรับให้เป็น plain language การใช้ภาษาที่เรียบง่ายต่อความเข้าใจเข้าถึงประเด็นสำคัญเข้าใจได้โดยทั่วไป พร้อมการปรับการสื่อสาร การใช้ภาษาให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน ในบางประเทศมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่อง plain language มีการอบรมพัฒนาสร้างบุคลากรให้มีทักษะด้านนี้โดยเฉพาะ
การสื่อสารอธิบายถึงความจำเป็นของข้อมูล (Data) ในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย โดยยึดผู้ฟังเป็นศูนย์กลาง ปรับการสื่อสารให้เหมาะกับกลุ่มผู้ฟัง หรือเรียกว่าเป็น Audience-centric approach จำเป็นอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลอย่างทุกวันนี้
ซึ่งแน่นอนภายในองค์กรหนึ่ง หรือสังคมหนึ่ง ย่อมมีความแตกต่างของฐานความรู้ความเข้าใจของแต่ละบุคคลที่ต้องคำนึงถึงเมื่อต้องการสื่อสารเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หลัก การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Organization) ที่ประสบความสำเร็จ
REFERENCES:
[1] MIT, “3 ways to build a data-driven culture in your organization,” Aug. 2021
[2] Harvard Business Review, “Why Is It So Hard to Become a Data-Driven Company,” Feb. 2021.
[3] World Economic Forum, “Data-driven Economies: Foundations for Our Common Future,” March 2021.
[4] Forbes Magazine, “4 Key Signals That Indicate a Data Culture is Thriving in Your Organization,” Aug. 2021.