Thursday, December 26, 2024
ArticlesColumnistSansiri Sirisantakupt

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯกับยุทธศาสตร์การเป็นผู้นำนวัตกรรมอีกครั้ง

ลองศึกษาวิธีคิดและวิธีการของ กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ฯ ที่วางแผนต้องการกลับมาเป็นผู้นำนวัตกรรม และเทคโนโลยีโซเบอร์อีกครั้งโดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและบุคลากรของรัฐบาลให้ทันสมัย พร้อมกับความร่วมมือด้านไซเบอร์กับภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา

 ช่วงเวลาที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้สูญเสียความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีให้แก่จีนแม้จะมีความคิดริเริ่มที่ใหม่ๆ สำหรับการออกแบบด้านเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในอนาคตของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (DoD) และการออกแบบทีมงานด้านไซเบอร์แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือสิ่งฝังอยู่ในความคิดของบุคลากรทางทหารและพลเรือนที่เกี่ยวข้อง ยังวนเวียนอยู่กับวิธีการย่ำอยู่กับที่ (Steady) ไม่เปลี่ยนแปลง (Consistent) และคาดเดาได้ (Predictable)

ผู้เขียน: น.อ.สรรสิริ สิริสันตคุปต์ นักวิชาการกองทัพอากาศ กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทหารอากาศ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ด้านอวกาศและไซเบอร์

ทั้งหมดนี้ได้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการบริหารตามฐานมูลค่าหรือ การบริหารที่เน้นมูลค่าเพียงมิติเดียว (Value-based model) ปัจจุบันภูมิทัศน์การแข่งขันของชาติมหาอำนาจได้ขยายตัวและไม่อาจคาดเดาได้

ซึ่งลดความกังวลสำหรับประสิทธิภาพทางด้านการเงินลง แต่มีความต้องการมากขึ้นสำหรับการใช้งานทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถในการปรับตัวและสร้างสรรค์ได้ดีกว่า สิ่งเหล่านี้คือ “กระสุน” ที่ฝ่ายตรงข้ามใช้คุกคามต่อประเทศสหรัฐอเมริกาและผลประโยชน์แห่งชาติ

กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ฯ ต้องก้าวข้ามขอบเขตของภัยคุกคามในปัจจุบันที่ใช้รูปแบบตามมูลค่าเพื่อที่จะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันทางเทคโนโลยีกล่าวคือ วิธีการย่ำอยู่กับที่หมายถึง การหยุดนิ่งวิธีการที่ไม่เปลี่ยนแปลงหมายถึง การคิดในแบบเดิมๆ และวิธีการคาดเดาได้ หมายถึง ไร้ซึ่งความสามารถในการอำพรางหรือหลบซ่อนจากคาดเดาจากฝ่ายตรงข้าม

ตามคำแนะนำของ น.ท.สตีเว่น สกิพเพอร์ (กองทัพอากาศสหรัฐ) เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติที่สถาบันฮูเวอร์ของสแตนฟอร์ดจากบทความ How the DoD canwin the great tech race with a new workforce model ซึ่งผู้เขียนถอดความและนำประเด็นสำคัญมาเสนอในบทความนี้ โดยมีมุมมองและรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

จุดเริ่มต้น

ในช่วงปลายปี 2020 คณะกรรมการไซเบอร์สเปซของสหรัฐฯซึ่งเป็นรัฐบาลผสมของฝ่ายนิติบัญญัติสองฝ่ายได้ทำรายงานเพื่อแจ้งพระราชบัญญัติการอนุญาตป้องกันประเทศสำหรับปี 2021

โดยรายงานดังกล่าวได้ทำการศึกษาและเสนอคำแนะนำมากกว่า 80 ข้อทั้งนี้เพื่อกำหนดรูปแบบการดำเนินงานบนโลกไซเบอร์ในอนาคตในรายงานมีประเด็นสำคัญมากมาย โดยเฉพาะ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและบุคลากรของรัฐบาลให้ทันสมัยพร้อมกับดำเนินการทำงานร่วมกันในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กับภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา

เอริก ชมิดต์ อดีตประธานผู้บริหาร Alphabet (ที่มา: ericschmidt.com)

ซึ่งถือเป็นความหวังและการสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นในอนาคตความปลอดภัยทางไซเบอร์แต่อย่างไรก็ตามในการที่จะตระหนักถึงความสำเร็จบนโลกไซเบอร์แห่งอนาคตนั้น การมีส่วนร่วมกันของทั้งสองฝ่ายอีกทั้งการร่วมมือกับองค์กรเอกชนและนักวิชาการนั้นจะยึดมั่นและดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อลดวิกฤตไซเบอร์ระดับชาติในอนาคต

กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ฯ ต้องขยายโครงการบูรณาการบุคลากรทางไซเบอร์กับภาคอุตสาหกรรมเอกชน ในขณะเดียวกันนั้นต้องยกเครื่องแนวทางในการสรรหาการจัดหา การบูรณาการ และการรักษาเหล่าบุคลากรที่มีความสามารถ (Key players) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความพร้อมในแนวรบด้านไซเบอร์ที่มีการแข่งขันอย่างมาก

ในระหว่างการประชุมล่าสุดกับ เอริก ชมิดต์ อดีตประธานผู้บริหาร Alphabet บริษัทแม่ของ Google เขาย้ำว่า“กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯจำเป็นต้องปรับปรุงการพัฒนาบุคลากรปรับทักษะให้เข้ากับความท้าทายและต้องปรับปรุงวิธีการแห่งการเพิ่มความสามารถให้แก่บุคลากรอย่างต่อเนื่อง”

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯจะสามารถทำหน้าที่ให้คล้ายกับ SpaceX ที่สามารถปกป้องบ้านเกิดและผลประโยชน์แห่งชาติไปพร้อมๆ กันได้หรือไม่? ในมุมมองของชมิดต์ นั้น ภาระงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯจำเป็นต้องทดลองใช้งานเทคโนโลยีทันสมัยอย่าง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้ของเครื่อง (ML) รวมถึงต้องมองหานวัตกรรมอื่นๆ เข้ามาใช้ด้วย

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีตัวแทนของความสามารถในด้านดิจิทัล หรือโครงสร้างขององค์กรที่จำเป็นในการรักษาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในระดับที่ทัดเทียมกับคู่แข่ง โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งตามที่ชมิดต์ชี้ให้เห็นนั้น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯไม่มีปัญหาทางด้านเทคโนโลยีแต่มีปัญหาทางด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้

ขั้นตอนถัดไป

ต่างจากยุคอุตสาหกรรมที่ความคิดและการพัฒนาใหม่ๆ นั้น เกิดขึ้นภายในรัฐบาลเป็นหลัก ปัจจุบันความเหนือกว่าของนวัตกรรมเริ่มต้นจากภาคเอกชนตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ต้องเห็นด้วยกับแนวทางของผู้ชนะ (Champion) ผู้สร้างนวัตกรรม (Innovator) และผู้ดำเนินการ (Implementer)

ขณะเดียวกันนั้นต้องขยายความร่วมมืออันมีค่าไปพร้อมๆ กันในระยะเวลาอันใกล้ การสร้างความสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรมจะช่วยเพิ่มความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศสหรัฐฯก้าวไปข้างหน้า

ด้วยความสัมพันธ์เหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการดำเนินการ เพื่อยกเครื่องการฝึกอบรมแบบโบราณและกระบวนทัศน์การจัดการความสามารถ และดำเนินการในทุกประเด็นใหม่ๆเพื่อมั่นใจได้ว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯจะไม่ใช้วิธีการหรือแนวเดิมๆ ที่เคยทำในอดีต เพื่อการแก้ปัญหาของวันพรุ่งนี้

ผู้ชนะ – ภาคเอกชน
ไมเคิล บราวน์ ผู้อำนวยการหน่วยนวัตกรรมการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (ที่มา: กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ)

ผู้ชนะคือ ภาคเอกชนซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนที่มีคุณค่า ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ สร้างแรงบันดาลใจในระดับที่สูงขึ้นของความสำเร็จในการดำเนินงาน และขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างกลุ่มและหน่วยนวัตกรรม

จากการให้สัมภาษณ์ที่ผ่านมาของ ไมเคิล บราวน์ อดีต CEO บริษัท Symantec และเป็นผู้อำนวยการคนปัจจุบันของหน่วยนวัตกรรมการป้องกันชั้นนำของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เขาเน้นย้ำว่า “กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯในเวลาที่ผ่านมาประสบความสำเร็จได้ด้วยการจัดวางยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ และการกระทำต่างๆ ที่ได้มาซึ่งความรู้อันรวมถึงความสามารถ”

แม้องค์กรจะมีจุดแข็งเหล่านี้ แต่ในข้อจำกัดด้านงบประมาณของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รวมทั้งแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างที่ล้าสมัยนั้นยังคงขัดขวางการพัฒนาทางนวัตกรรมในมุมมองของบราวน์นั่น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่คล่องตัวกับการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

ซึ่งในหลายๆ กรณี เมื่อถึงเวลาที่มีการระดมทุนก็สายเกินไปที่จะสร้างสรรค์ไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอนึ่งคำสั่งในการใช้จ่ายของรัฐบาลและการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่ยาวนานนั้น แตกต่างจากหน่วยงานเอกชนที่ไม่ได้มีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากเกินไปจึงทำให้พวกเขาสามารถคิดค้น ปรับขนาด และส่งมอบความสามารถที่สูงกว่าในการแข่งขันทางเทคโนโลยี ซึ่งเหนือกว่าฝ่ายตรงกันข้ามของสหรัฐฯ

ผู้สร้างนวัตกรรม – ภาคเอกชนและภาครัฐ

ในช่วงสอง-สามทศวรรษที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้สูญเสียฐานรากแห่งนวัตกรรมให้แก่จีน โดยเฉพาะในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้ของเครื่อง (ML) และเทคโนโลยีอื่นๆการเติบโตของบริษัทด้านเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐจะเป็นจุดเริ่มที่หลายคนรอมานานสำหรับการทดลองและนวัตกรรมของชาวอเมริกัน ตัวอย่างที่เราได้เห็นก็คือ SpaceX

ในระหว่างการสนทนาล่าสุดกับ พล.อ.อ.จอห์น เรย์มอนด์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการด้านอวกาศ กองกำลังทางอวกาศสหรัฐฯ เขาได้เน้นย้ำไว้ว่า “การแบ่งปันแนวคิดใหม่ๆ กับพันธมิตรในด้านอุตสาหกรรมนั้น จะนำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานที่รวดเร็ว”

โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของบริษัท SpaceX ในการผลิตและการยิงดาวเทียม ISR ด้วยอัตราที่เร็วขึ้นในแบบทวีคูณเมื่อนำมาเทียบกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯซึ่งภาคเอกชนเป็นตัวอย่างอันทรงพลังที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งเหล่านั้นเพื่อเอาชนะจุดอ่อนในขณะเดียวกันก็สร้างผลลัพธ์ที่เป็นนวัตกรรม

ผู้ดำเนินการ – ภาครัฐ

เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการที่เป็นมืออาชีพกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯต้องลงทุนในการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมและการศึกษาสำหรับบุคลากรที่ดูแลและติดตามเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย การอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม ก็เพื่อนำโซลูชันขั้นสูงไปใช้ทำให้เกิดชัยชนะในระยะสั้น

อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นการขาดกลยุทธ์ที่ยั่งยืนซึ่งขัดขวางความก้าวหน้าในระยะยาวในขณะที่เทคโนโลยีนั้นก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่การฝึกอบรมในด้านเทคโนโลยีขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯไม่ได้จัดให้มีการศึกษาและฝึกอบรมบุคลากร

ด้วยเหตุนี้จึงมีทางเลือกให้แก่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ คือ ลงทุนอย่างจริงจังในการพัฒนาผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จในฐานะผู้ปฏิบัติงานหรือดำเนินงานในสภาพที่เป็นอยู่โดยใช้ประโยชน์ที่ได้จากความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองในความต้องการด้วยตัวเลือกนี้ต้องการการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ

แต่ในระยะยาวกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะได้รับประโยชน์จากการทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการของตนเอง ด้วยทีมงานดิจิทัลที่มีความสามารถและผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว ซึ่งจะสามารถติดตามและใช้เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำได้อย่างมั่นใจ

ข้อคิดที่ฝากไว้

โครงสร้างของบุคลากรไม่ได้รับการออกแบบมาเพื่อการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่สอดคล้องกับการแข่งขันของชาติมหาอำนาจที่พัฒนาอย่างเร็วรวด

แต่อย่างไรก็ตามการนำรูปแบบผู้ชนะ (Champion) ผู้สร้างนวัตกรรม (Innovator) และผู้ดำเนินการ (Implementer) มาใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงการแข่งขันเป็นผู้ชนะได้ในอนาคต

โดยเฉพาะกับฝ่ายตรงข้ามในการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่ไม่หยุดยั้งด้วยความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (ML) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯจะต้องทำงานร่วมกับผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งการสร้างแนวทางการพัฒนาความสามารถของบุคลากรและการเสริมสร้างความคิดริเริ่มด้านนวัตกรรมของรัฐบาลอย่างยั่งยืนทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาจากจิตวิญญาณของการเป็นประเทศที่เข้มแข็งกว่าซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เหนือกว่ารวมทั้งความสามารถต่างๆ ที่มีอยู่บนโลกไซเบอร์

อ่านไฟล์ PDF.