Wednesday, November 27, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

เศรษฐกิจไทยปี 2564 ภายใต้วิกฤต COVID-19

ผู้เขียนชวนผู้อ่านมาติดตามเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ภายใต้วิกฤตโควิด บนสมมติฐานที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศยังมีข้อจำกัดมากมาย ขณะที่เศรษฐกิจโลกแม้ขยายตัวขึ้น แต่ทุกประเทศต่างมุ่งเน้นเศรษฐกิจในประเทศของตนเองก่อน ปี 2564 จึงเป็นปีที่ต้องเหนื่อยกันอีกปีหนึ่ง

ถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยในปี 2564 ขึ้นอยู่กับการระบาดของ_COVID-19 ซึ่งปัจจุบันยังคงรุนแรงทั่วโลก โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ของ COVID-19 ทำให้ระบาดได้รวดเร็วกว่าเดิม และกำลังกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก ส่วนในประเทศไทย การระบาดระลอกใหม่รวดเร็วและรุนแรงกว่าการระบาดระลอกแรก

แม้หลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่กระนั้นสถานการณ์การระบาดในปีนี้อาจจะยังคงยืดเยื้อ เพราะการจัดการกับโรคระบาดอย่างเบ็ดเสร็จนั้นประชากรโลกที่ได้รับวัคซีนอาจต้องสูงถึงร้อยละ 60-70 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

แต่ปัญหาคือ ทั่วโลกจะผลิตวัคซีนให้เพียงพอได้เมื่อใดในราคาที่คนในประเทศยากจนเข้าถึงได้หรือไม่ กระจายให้ทั่วถึงได้อย่างไรและด้วยต้นทุนเท่าไรในเมื่อวัคซีนส่วนหนึ่งต้องอยู่ในความเย็นจัด และจะสามารถฉีดวัคซีนให้คนจำนวนมากได้อย่างไร โดยหวังว่า จะไม่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนอาจต้องยกเลิกการฉีดวัคซีนกลางทาง

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ด้วยอุปสรรคมากมายดังกล่าว การระบาดจะไม่จบเร็วแม้มีวัคซีนแล้วก็ตาม เพราะแม้คนส่วนหนึ่งได้รับวัคซีนแล้ว แต่ยังไม่ถึงระดับภูมิคุ้มกันหมู่ การระบาดอาจกลับมาอีกระลอกแล้ว ระลอกเล่า ยังไม่นับรวมถึงความเสี่ยงในการกลายพันธุ์จนวัคซีนที่มีอยู่ไม่สามารถป้องกันได้

และยังไม่รู้ว่าภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนจะคงอยู่ได้นานเท่าไร และจะเกิดผลข้างเคียงในระยะยาวหรือไม่เพราะการข้ามขั้นตอนการพัฒนาวัคซีน ถึงกระนั้นวัคซีนก็เป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่ในการจบการระบาด

สำหรับสถานการณ์ด้านวัคซีนในประเทศไทย วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าของอังกฤษที่ประเทศไทยได้รับสิทธิในการผลิต กว่าจะเริ่มฉีดได้อาจผ่านไปถึงเดือนพฤษภาคมแล้วรัฐบาลจึงต้องจัดหาวัคซีนจากจีนมาก่อน 2 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับบุคลากรการแพทย์ 1 ล้านคน

แต่ปัญหาคือ การฉีดวัคซีนให้กับประชากรประมาณ 50 ล้านคน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศไทย จะต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนเท่าไรและใช้เวลานานเท่าไร

ผมคาดว่า การระบาดจะไม่สามารถจัดการได้เร็ว เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลา กว่าการระบาดจะสามารถควบคุมได้น่าจะต้องรอถึงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นเวลา 2 ปีตามแนวคิด วงจรชีวิต 2 ปี กับ COVID-19 ที่ผมได้คาดการณ์ไว้ในหนังสือ กระชากเปลี่ยนอนาคต: วิเคราะห์ปฏิวัติโควิด

ผลกระทบจาก_COVID-19 จึงทำให้เศรษฐกิจโลกยังไม่สามารถฟื้นตัวเอย่างเต็มที่ แต่เนื่องด้วยฐานที่ต่ำมากในปีที่ผ่านมา ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5-6 ในปีนี้

และแม้การระบาดจะยังคนรุนแรง แต่ผลกระทบจะไม่มากเหมือนกับปีที่ผ่านมา เพราะทั่วโลกมีความรู้เกี่ยวกับ COVID-19 มากขึ้นและมีประสบการณ์ในการรับมือกับการแพร่ระบาด ทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ สามารถรับมือได้อย่างฉลาดขึ้นในเชิงนโยบายเศรษฐกิจ และไม่ทำอะไรที่รุนแรงหรือสุ่มเสี่ยงเกินไป

ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถจัดการการระบาดของ_COVID-19 ได้เร็ว และรัฐบาลได้ใช้งบประมาณจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการลด แลก แจก แถม ถึงกระนั้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยก็คาดว่าจะติดลบถึงร้อย 7-8

ในปีนี้ รัฐบาลจัดการการระบาดอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยจะพยายามไม่ล็อคดาวน์ทั่วประเทศเหมือนปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่ามีการระบาดรุนแรงและอาจยืดเยื้อกว่าปีก่อน ทั้งนี้เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยลง ถึงกระนั้นเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวด้วยอัตราไม่มากนัก

โดยประมาณร้อยละ 2-3 เพราะรัฐบาลมีความจำกัดมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหนี้สาธารณะ ณ เดือนกันยายน พ.ศ.2563 ขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 58 ใกล้เพดานที่ร้อยละ 60 มากแล้วจึงไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีกมากนัก

กระชากเปลี่ยนอนาคต: วิเคราะห์ปฏิวัติโควิด

อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็น ก็มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจแก้กฎหมายเพื่อขยายเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้น แต่จะเป็นปัญหาหนี้ระยะยาวซึ่งผลกระทบก็ขึ้นอยู่กับการจัดการผ่อนชำระหนี้ในอนาคต

ปัญหาสำคัญคือ เศรษฐกิจไทยพึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างมากโดยมีอัตราการเปิดประเทศ (degree of openness) ร้อยละ 110 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ร้อยละ 94 แต่การระบาดที่ยังรุนแรงทั่วโลก ทำให้นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาหรือไม่กลับมาเต็มที่ในปีนี้เช่นเดียวกับการลงทุนจากต่างประเทศที่จะยังไม่เข้ามา

เพราะนักลงทุนยังไม่กล้าลงทุนใหม่ ในขณะที่การส่งออก แม้จะขยายตัวขึ้นบ้าง แต่อยู่บนสภาพจำกัดที่เศรษฐกิจโลกยังขยายได้ไม่เต็มที่ รวมทั้งปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้เครื่องยนต์การส่งออกทำงานได้ไม่เต็มที่

บนสภาพที่เศรษฐกิจไทยแทบไม่เหลือเครื่องยนต์เศรษฐกิจเลยการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าประเทศทั่วโลกโดยเฉลี่ย แม้เศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะขยายตัวขึ้นแต่เราอาจไม่สามารถพึ่งพาตลาดในประเทศใหญ่ๆ ได้อย่างเต็มที่เพราะสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นยังมีการระบาดรุนแรง

ส่วนประเทศจีน ถึงแม้เศรษฐกิจขยายตัวสูงแต่รัฐบาลจีนกลับเน้นนโยบายพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น ส่วนตลาดที่พอพึ่งพาได้อาจจะเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน แต่ขึ้นอยู่กับว่า อาเซียนแต่ละประเทศควบคุม_COVID-19 ได้ดีหรือไม่ รวมทั้งขึ้นอยู่กับการจัดการของประเทศไทย เพื่อให้สินค้าไทยส่งออกได้แข่งกับคู่แข่งได้มากเพียงใด

เมื่อเศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตได้มากนักทำให้การใช้กำลังการผลิตยังคงชะลอตัวบริษัทกว่าร้อยละ 90 ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม อยู่ในภาวะขาดสภาพคล่อง แต่ยังไม่ล้มละลาย เพราะมีการยืดระยะเวลาการจัดให้เป็นหนี้สงสัยจะสูญ (NPLs) แต่ระบบสถาบันการเงินจะไม่สามารถอยู่ในสภาพนี้ได้นาน

การลดลงของกำลังการผลิตจะส่งผลให้คนว่างงานเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งคนว่างงานจริงที่มีกว่า 8 แสนคนแล้วในปัจจุบัน และคนที่ทำงานต่ำระดับ หรือทำงานไม่เต็มเวลาอีกประมาณ 11 ล้านคน ทำให้ภาพรวมของประเทศขาดกำลังซื้อ เพราะคนส่วนใหญ่ที่ว่างงานและทำงานต่ำระดับ เป็นแรงงานไร้ฝีมือและกึ่งฝีมือซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รายมาเท่าไรจะเอาไปใช้จ่ายเกือบทั้งหมด ในขณะที่หนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นประวัติการณ์ ยิ่งบั่นทอนกำลังซื้อของผู้คน

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะเติบโตในอัตราต่ำ แม้การพัฒนาวัคซีนจะสำเร็จแล้ว แต่การผลิต กระจายและฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงไม่สามารถทำได้ในเวลารวดเร็ว ส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศยังมีข้อจำกัดมากมาย ขณะที่เศรษฐกิจโลกแม้ขยายตัวขึ้น แต่ทุกประเทศต่างมุ่งเน้นเศรษฐกิจในประเทศของตนเองก่อน ปี 2564 จึงเป็นปีที่เรายังต้องเหนื่อยกันอีกปีหนึ่ง